วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

ความหมายของคำว่าแม่

ในสังคมต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญกับ "ความเป็นแม่" และคำเรียกผู้ที่ให้กำเนิดสมาชิกใหม่ของแต่ละสังคมส่วนใหญ่จะเป็นคำแรกที่เด็กสามารถเปล่งเสียงได้ก่อน "แม่" ดังนั้นความหมายของคำว่า "แม่" ทุกภาษาและวัฒนธรรมจะมีคุณค่าอย่างมาก และหากสังเกตจะพบว่า "แม่" เป็นเสียงที่เด็กสามารถเปล่งได้อย่างง่าย และเป็นคำแรกที่สามารถออกเสียงนั้นได้อย่างมีความหมาย

          นักภาษาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า คำว่า
"แม่" ของ ทุก ๆ ภาษา มาจากการออกเสียงของเด็ก โดยคำขึ้นต้นด้วยพยัญชนะริมฝีปากคู่ (Bilabial) ได้แก่ ม , , ,บ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นพยัญชนะชุดแรกที่เด็กสามารถทำเสียงได้ โดยการใช้ริมฝีปากบนและล่าง ดังเช่น  
                     าษาไทย เรียก แม่ 
                     ภาษาจีน เรียก ม๊ะ หรือ ม่า 
                     ภาษาฝรั่งเศส เรียก la mere (ลา แมร์) 
                     ภาษาอังกฤษ เรียก mom , mam 
                     ภาษาโซ่ เรียก ม๋เปะ 
                     ภาษามุสลิม เรียก มะ 
                     ภาษาไท เรียก ใต้คง เม เป็นต้น

          "แม่" เป็นคำโดดหรือคำไทยที่บ่งบอกความสัมพันธ์อันอบอุ่นลึกซึ้งระหว่างผู้หญิงกับลูก แม่ หมายถึง ผู้มีพระคุณ ผู้ให้กำเนิด ให้น้ำนมลูกดื่มกิน ให้ความรักความเมตตาและปกป้องดูแลลูกจนเติบใหญ่ คำว่า "แม่" มักถูกนำไปใช้ร่วมกับคำอื่น ๆ โดยมีความหมายแตกต่างกันออกไป พอจะแบ่งแยกออกได้เป็นประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 

        1.
แม่ ในฐานะเป็นคำที่ใช้แบ่งแยกเพศและบ่งบอกบทบาท ฐานะ สถานภาพและอากัปกิริยาของผู้หญิง เช่น แม่… (น.) : คำเรียกหญิงทั่วไป เช่น แม่นั่น แม่นี่ ; แม่ค้า (น.) : ผู้หญิงที่ดำเนินการค้าขาย ; แม่ครัว (น.) : หญิงผู้ดูแลครัว หุงหาอาหาร ; แม่คู่ (น.) : นักสวดผู้ขึ้นต้นบท ; แม่นม (น.) : หญิงผู้ให้นมเด็กกินแทนแม่ ; แม่บ้านแม่เรือน (น.) : หญิงดูแลบ้านเรือน ; แม่แปรก (น.) : หญิงผู้จัดจ้านหรือเป็นหัวหน้ากลุ่ม ; แม่มด (น.) : หญิงหมอผี หญิงคนทรง หญิงเข้าผี ; แม่ยาย (น.) : คำเรียกแม่ของเมีย ; แม่ม่าย (น.) : หญิงที่มีผัวแล้วแต่ผัวตายหรือเลิกร้างกันไป ; แม่ยั่วเมือง (น.) : คำเรียกพระสนมเอกแต่โบราณ ; แม่ย้าว (น.) : หญิงผู้เป็นแม่เรือน ; แม่รีแม่แรด (ว.) : ทำเจ้าหน้าเจ้าตา ; แม่แรง (น.) : หญิงผู้เป็นกำลังสำคัญในการงาน, เครื่องดีดงัดหรือยกของหนัก ; แม่เลี้ยง (น.) : เมียของพ่อที่ไม่ใช่แม่ตัว, หญิงที่เลี้ยงลูกบุญธรรม ; แม่เล้า (น.) : หญิงผู้กำกับควบคุมดูแลซ่องโสเภณี ; แม่สื่อแม่ชัก (น.) : ผู้พูดชักนำให้หญิงกับชายรักกัน ; แม่อยู่หัว (น.) : คำเรียกพระมเหสี เป็นต้น
  2. แม่ เป็นคำที่ใช้บ่งบอกฐานะของผู้ปกป้องคุ้มครอง เช่น แม่ย่านาง (น.) : ผีผู้หญิงผู้รักษาเรือ นางไม้ ; แม่ซื้อ, แม่วี (น.) : เทวดาหรือผีที่คอยดูแลทารก เป็นต้น

       
 3. คำว่า แม่ ยังถูกนำมาใช้เรียกผู้เป็นหัวหน้าหรือเป็นนาย บ่งบอกฐานะของผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลและควบคุม เช่น แม่กอง แม่ทัพ เป็นต้น
      
อย่างไรก็ตาม ความหมายหลักของคำว่า แม่ ก็คงหนีไม่พ้นการเป็นผู้ให้ชีวิตหรือหญิงผู้ให้กำเนิดบุตร หญิงผู้ปกป้องคุ้มครองและดูแลรักษา สังคมไทยยังใช้คำว่าแม่ตามความหมายนี้เรียกสิ่งดีงามตามธรรมชาติอื่น ๆ เพื่อยกย่องเทอดทูนในฐานะผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงชีวิต เช่น แม่น้ำ แม่โพสพ แม่ธรณี เป็นต้น ความหมายของคำว่าแม่ในลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นชัดอย่างชัดเจนว่าสังคมไทย แต่โบราณมายกย่องและให้เกียรติสตรีเพศผู้เป็นแม่ ตระหนักในบทบาทหน้าที่และบุญคุณของแม่ต่อชีวิตของลูก ๆ ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย
     ในบริบทของสังคมวัฒนธรรมไทย
แม่ คือ ผู้เสียสละความสุขส่วนตนเพื่อลูก ๆ คอยดูแลเอาใจใส่และประคบประหงมลูกจนเติบใหญ่ ความรักของแม่ถือว่าเป็นความรักที่บริสุทธิ์ สังคมไทยมักพูดถึงแม่ในฐานะของผู้ที่รักลูกยิ่งชีวิต พร้อมจะตกระกำลำบากเพื่อลูกของตนโดยไม่สำนึกเสียใจ นางจันทร์เทวีถูกขับออกจากเมือง ต้องระเหเร่ร่อนไร้ที่ซุกหัวนอนเพราะคลอดลูกเป็นหอยสังข์ แต่นางก็ยังรักและเฝ้าทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงโดยไม่เคยคิดรังเกียจเดียดฉันท์ แม้แต่สัตว์อย่างนางนิลากาสร ก็ยังรักและหวงแหนลูกอย่างทรพี ปกป้องลูกของตนมิให้ถูกฆ่าดังเช่นลูกของตัวอื่น ๆ

      แม้ว้าโดยทั่วไปแล้ว คำว่า
"แม่" จะบ่งบอกความหมายของการเสียสละ ความรักและความผูกพันที่ผู้หญิงที่มีต่อลูกของตน แต่การที่สังคมไทยมีลักษณะวัฒนธรรมเฉพาะที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละชนชั้น ทำให้ความหมายของการเป็นแม่ ตลอดจนบรรทัดฐาน แบบแผน พฤติกรรมและบทบาทฐานะของผู้หญิงในวัฒนธรรมของแต่ละชนชั้นย่อมแตกต่างกันไป

http://article.zubzip.com/?8695


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น