วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

อัมพวา


       ชัยพัฒนาร่วมสืบสาน ตำนานอัมพวา
จากอดีตสู่ปัจจุบัน กับวีถีสายน้ำที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
อัมพวาเป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่ริมน้ำ มีประวัติและมีความเป็นมาสืบทอดกันมาช้านาน ในอดีตเคยเป็นศูนย์กลางการค้าขายทางน้ำที่คับคั่ง มีตลาดน้ำ เรือนแพ และบ้านเรือนปลูกขนานไปตามแนวคลอง ซึ่งมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้นเรียกกันว่า"บางช้าง" เป็นชุมชนริมน้ำที่ทำสวนไม้ผลและพืชผักจนมีชื่อเสียงในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแขวงบางช้างเริ่มปรากฏมีสวนผลไม้และพืชผักที่อุดมสมบูรณ์มีความเจริญทางด้านเกษตรกรรมและการค้าขายจนมีตลาดเรียกว่าตลาดบางช้างเป็นตลาดน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนผลผลิตจากสวนแถบบางช้างและบริเวณใกล้เคียง แถบบางช้างเป็นที่รู้จักในนาม "สวนนอก" และเปรียบเทียบกับ "สวนใน" โดยมีคำเรียกที่ว่า "บางช้างสวนนอกบางกอกสวนใน"หมายถึงสวนบ้านนอกคือสวนบางช้างส่วนสวนที่อยู่ในเมืองใกล้รั้ววังเจ้านายคือสวนในปัจจุบันวิถีชีวิตของชุมชนอัมพวาในอดีต ยังปรากฏให้เห็นและสัมผัสได้ในปัจจุบัน แม้กาลเวลาจะผ่านเลยไปแต่ภาพความทรงจำในอดีตยังคงหลงเหลือให้เห็นแม้จะลบเลือนไปบ้างตามกาลเวลาหากแต่ชุมชนแห่งนี้ก็ยังพยายาม.ปกปักษ์รักษาให้คงสภาพเหมือนเดิมให้ได้มากที่สุด....ภาพบ้านเรือนไม้ที่ขนานไปตามริมสองฝั่งคลอง ควบคู่ไปกับการค้าขาย และการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย พร้อมๆ ไปกับการรักษาวัฒนธรรมรวมถึงศิลปะต่างๆ ในชุมชน ยังปรากฏให้เห็นเด่นชัด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศแวะเวียนมาเยือน อัมพวาอยู่เป็นนิจ
กาลเวลาผ่านไปจากอดีตสู่ปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวอัพวา ยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ หากแต่วันนี้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการ  อนุรักษ์และพัฒนาชุมชนภายใต้ชื่อ " โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ " เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนานำที่ดินที่คุณประยงค์ นาคะวะรังค์ ชาวอัมพวา ได้น้อมเกล้าฯ ถวายมาดำเนินการพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนอัมพวา และด้วยที่ " ชุมชนอัมพวา " เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่เกี่ยวข้องกับความเป็นชาติไทย ซึ่งอนุชนรุ่นหลังสามารถหวนรำลึกและมองย้อนเห็นภาพอดีตอันรุ่งเรืองถึงความเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรม และประเพณีที่งดงามที่สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างน่าภาคภูมิใจ ดังนั้น การพัฒนาและการจัดการพื้นที่แห่งนี้ จึงต้องดำเนินไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม และที่สำคัญคือ ได้รับความร่วมมือพร้อมใจจากชาวอัมพวาทุกคน การจัดการพื้นที่แห่งนี้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาคำนึงถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวอัมพวาโดยนำหลักการพัฒนาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ภูมิสังคม" และ พระราชดำริ -เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางและหลักการดำเนินงานที่สำคัญซึ่งเป้าหมายอยู่ที่การมีส่วนร่วมการร่วมมือร่วมใจระหว่างสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาและชาวอัมพวาทุกคนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีการดำรงชีวิตชุมชนอัมพวาให้สามารถอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง เรียบง่าย ยั่งยืน และมีความสุข ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของสังคม

http://www.chaipat.or.th/chaipat/index.php?option=com_content&view=article&id=473%3Achai-developed-ampwa-legend-from-the-past-to-succeed-today-with-frequent-video-stream-that-never-stops&catid=39&Itemid=193&lang=en


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น