วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

อันตราย!ตะกั่ว:สารพิษมรณะ

อันตราย!ตะกั่ว:สารพิษมรณะ
ตะกั่ว หลายคนรู้จักกันดีว่าเป็นธาตุโลหะหนักสีเทาเงิน หรือแกมน้ำเงิน นิยมใช้ในวัตถุดิบอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งแบตเตอรี่ โลหะบัดกรีอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสี หรือใช้เคลือบภาชนะ แต่รู้หรือไม่ว่า จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความละเลยไม่ใส่ใจของมนุษย์ สารตะกั่วได้กลายเป็นสารพิษที่ส่งผลร้ายแรงไปยังทุกคน ไม่เว้นแม้แต่เด็กน้อยตาดำๆ

เราสามารถรับสารตะกั่วได้ทั้งทางเดินอาหารจากการปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม ทางผิวหนัง การหายใจและยังสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกในครรภ์ผ่านสายรก โดยหากสะสมในร่างกายจะก่อให้เกิดพิษเรื้อรัง และจะแสดงอาการออกมาทีละน้อย ทั้งเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก ปวดท้องรุนแรง กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงหากได้รับการสะสมเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอัมพาตที่กล้ามเนื้อ ในรายที่ได้รับพิษปริมาณสูงอย่างเฉียบพลันอาจถึงขั้นเสียชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของความรู้พื้นฐานที่พญ.นัยนา ณีศะนันท์กุมารแพทย์สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ให้ไว้ในกิจกรรม Building healthy kids ดูแลสิ่งแวดล้อมให้ปลอดสารพิษ สร้างคุณภาพชีวิตและอนาคตเด็กไทย ผ่านโครงการรณรงค์ป้องกันภัย อาหารปนเปื้อนสารตะกั่ว ที่ รพ.เด็ก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
          
แสดงให้เห็นว่า สารตะกั่วย่อมเป็นสารพิษที่ควรหลีกเลี่ยง พญ.นัยนา ในฐานะหัวหน้าโครงการรณรงค์ป้องกันภัย อาหารปนเปื้อนสารตะกั่ว อธิบายว่า สารตะกั่ว จัดเป็นสารพิษที่ก่ออันตรายกับทุกคน โดยเฉพาะเด็กๆเนื่องจากร่างกายเด็กจะดูดซึมสารตะกั่วจากทางเดินอาหารได้ถึงร้อยละ 30-75ขณะที่ผู้ใหญ่จะดูดซึมร้อยละ 11ดังนั้น ในเด็ก สารตะกั่วจะไปทำลายระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย ยิ่งเด็กอายุน้อยก็                      จะมีการทำลายมากขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาการ ระดับไอคิว โดยพบว่าหากมีสารตะกั่วเพิ่มขึ้นทุก 10ไมโครกรัม/เดซิลิตร จะทำให้ไอคิวลดลง 1-3จุด           สถาบันสุขภาพเด็กฯ ได้เปิดเผยผลการสำรวจปี 2554โดยลงพื้นที่สำรวจที่ ต.แม่จันทร์ ต.อุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก สำรวจเด็กวัย 1-2ปี 151คน พบผู้ที่มีสารตะกั่วในเลือดเกินมาตรฐาน หรือ 10ไมโครกรัม/เดซิลิตร มากถึงร้อยละ 60ขณะที่มีการสำรวจบ้านพักเด็ก 57ราย กลับพบว่าสัมพันธ์กับการบริโภคน้ำที่มีตะกั่วปนเปื้อนน้อยมาก ไม่มีนัยยะทางสถิติ ดังนั้น ในปี 2555จะมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ตาก และสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค โดยจะมีการหารือถึงแนวทางในการดูแลสุขภาพของเด็กในพื้นที่ดังกล่าว และหาสาเหตุว่าน้ำที่ปนเปื้อนสารตะกั่วมาจากแหล่งใด เพื่อหา
          
ทางป้องกัน และจะมีการจัดทำแนวทางป้องกันเพื่อเป็นต้นแบบในระดับพื้นที่ต่อไป

ย่างไรก็ตาม ทุกคนสามารถดูแลตัวเองให้ปลอดจากพิษสารตะกั่วปนเปื้อนในอาหารได้ไม่ยาก โดย
  1.ผู้ที่นิยมอาหารฟาสต์ฟู้ดควรระมัดระวังไม่เทอาหารทอดร้อนๆ ลงบนกระดาษพิมพ์สีหรือกระดาษรองถาด   2.ควรเลือกใช้ภาชนะเซรามิกที่ไม่มีลวดลายด้านใน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสังเกตว่า ลวดลายมีความเรียบเนียน เป็นเนื้อเดียวกันกับกระเบื้องหรือไม่ทดสอบโดยเมื่อเอามือเปล่าลูบที่ลายจะต้องไม่สะดุดลอยนูน ถ้าสะดุดอาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการละลายของสารตะกั่วที่ปนเปื้อนอยู่ในสีที่ใช้ทำลวดลายนั้นๆ
  3.ควรหลีกเลี่ยงการใส่อาหารประเภทที่มีฤทธิ์เป็นกรดรสเปรี้ยวลงไปในภาชนะเซรามิกที่มีลวดลายด้านใน เพราะกรดอาจละลายสีออกมาได้   4.ควรหลีกเลี่ยงการกินก๋วยเตี๋ยวจากหม้อต้มที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือมีสภาพชำรุดและบัดกรีด้วยสารตะกั่ว 
  5.ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟชา และน้ำดื่ม จากหม้อต้มกาแฟโบราณ ตู้น้ำเย็นโรงเรียนที่มีสภาพชำรุดและบัดกรีด้วยสารตะกั่ว 
  6.ไม่นำมือเข้าปาก และล้างมือทุกครั้งก่อนเตรียมและกินอาหาร เพียงเท่านี้ก็พ้นภัยสารตะกั่วได้ไม่ยาก...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น