เกษตรพันธะสัญญา: ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
Filed under : INTEGRATED SCIENCE > SOCIAL SCIENCE“บรรษัทมีเป้าหมายอยู่ที่การแสวงหากำไรเข้าตัวให้มากที่สุด โดยที่รัฐก็มีความสัมพันธ์กับบรรษัทในฐานะผู้มีหน้าที่ส่งเสริมการประกอบการหรือมีการอุปถัมภ์ค้ำชูกันทั้งในระดับนักการเมืองและข้าราชการประจำ ส่วนเกษตรกรก็กำลังแสวงหาวิธีการพาตัวเองออกจากความยากจนที่ต้องเผชิญอยู่”
บ่วงบาศพิฆาตเกษตรกร
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เกษตรกรต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมฐานทรัพยากรที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับวิถีการผลิตของตนมานับหมื่นปี อย่างไรก็ดีเกษตรกรทั้งหลายก็ได้พัฒนาระบบการผลิตและวิถีชีวิตของตนและกลุ่มให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ย่อมปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
เกษตรกรรมสมัยใหม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการผลิตเพื่อขายออกสู่ตลาด ซึ่งผลิตผลทางการเกษตรจะมีตัวกลางในการควบคุมการซื้อขาย รวมถึงขยับขยายมาควบคุมปัจจัยการผลิตทางการเกษตรมากขึ้น โดยปัจจุบันตัวกลางที่ว่าอยู่ในรูปแบบของ “บรรษัทธุรกิจการเกษตร” ที่มีอยู่ไม่กี่บริษัทและเป็นที่รู้จักดีทั้งในระดับรัฐและระดับโลก
บรรษัทธุรกิจการเกษตรเหล่านี้ได้ร่วมมือกับภาครัฐสร้างข้อมูล โฆษณาประชาสัมพันธ์ บทบาทของตนในการหยิบยื่นสิ่งที่เรียกว่า “ระบบเกษตรพันธสัญญา” หรือ “Contract Farming” ให้กับเกษตรกรทั้งหลายเพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงว่า เมื่อเกษตรกรเข้ามาร่วมดำเนินธุรกิจกับทางบริษัทแล้วจะมีการนำปัจจัยการผลิตมาให้ รวมถึงมีการรับซื้อผลผลิตคืน เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการผลิต โดยข้อตกลงที่เกิดขึ้นอยู่ในรูปแบบสัญญา “ลายลักษณ์อักษร” และ “สัญญาใจ” ไม่มีลายลักษณ์อักษร แต่ความคาดหวังของเกษตรกรจะเป็นจริงอย่างที่บริษัทโฆษณาจริงกระนั้นหรือ
งานวิจัยที่ได้ลงพื้นที่คลุกคลีกับเกษตรกรในหลายกลุ่ม อาทิ ผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ผู้เลี้ยงหมู ผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ชาวไร่อ้อย ชาวไร่ข้าวโพด ฯลฯ พบข้อสรุปซ้ำซากที่เกิดคล้ายๆกันระหว่างกลุ่มเกษตรกรในระบบพันธสัญญา คือ เกษตรกรตกอยู่ในภาวะ มีหนี้สินล้นพ้น เครียดวิตกจริต อยากจะเลิกแต่เลิกไม่ได้ และตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง และไร้อำนาจในการต่อรองเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ เนื่องจากเมื่อเข้าร่วมระบบพันธสัญญานั้น ตนได้ตกอยู่ในภาวะ “ไร้ญาติ” ขาดความสัมพันธ์กับญาติสนิทมิตรสหายที่เคยติดต่อไปมาหาสู่กันเมื่อครั้งทำการเกษตรแบบเดิม เมื่อเกิดปัญหาก็เหลือเพียง “ตัวเอง” กับ “บรรษัท” เท่ากับว่าตนต้องมีความสัมพันธ์กับบรรษัทบนพื้นฐานของอำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน และไม่มีแนวร่วม
สาเหตุที่เกษตรกรเข้าไปติดกับและออกจากวงจรไม่ได้นั้นเกิดจากกระบวนการที่มีการวางแผนและสมคบกันอย่างเป็นระบบระหว่างรัฐกับทุน โดยในบางกรณีรัฐก็มีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้เกษตรกรเข้าไปอยู่ในระบบ หรือบางกรณีรัฐก็ไม่ทำหน้าที่คนกลางหรือผู้ปกป้องสิทธิของประชาชน ทำให้ประชาชนต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความไม่เป็นธรรมโดยลำพัง กระบวนการดังกล่าวสามารถอธิบายด้วยผลการศึกษาเรื่อง “บ่วงบาศผูกขาดชีวิตเกษตรกร” ที่ปรากฏในรูป ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบ่วงบาศที่เกี่ยวรัดกระหวัดให้เกษตรกรดิ้นไม่รอดและล้มหายตายไปในอ้อมกอดอำมหิตดังกล่าว
ณ จุดเริ่มต้นของเรื่อง บรรษัทมีเป้าหมายอยู่ที่การแสวงหากำไรเข้าตัวให้มากที่สุด โดยที่รัฐก็มีความสัมพันธ์กับบรรษัทในฐานะผู้มีหน้าที่ส่งเสริมการประกอบการหรือมีการอุปถัมภ์ค้ำชูกันทั้งในระดับนักการเมืองและข้าราชการประจำ ส่วนเกษตรกรก็กำลังแสวงหาวิธีการพาตัวเองออกจากความยากจนที่ต้องเผชิญอยู่
บรรษัทเล็งเห็นว่าหากตนจะสร้างผลกำไรได้มากที่สุดจะต้องมีการผูกขาดความสามารถในการผลิตมาอยู่ที่ตัวเอง จึงได้พยายามอย่างมากในการครอบครองปัจจัยการผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็น พันธุกรรมพืชและสัตว์ ในรูปตัวอ่อนสัตว์และเมล็ดพันธุ์พืช หรือแม้กระทั่งการถือครองที่ดิน โดยที่ภาครัฐก็มิได้มีการสงวนอนุรักษ์ปัจจัยการผลิตเหล่านั้นให้เกษตรกร และเกษตรกรเองก็อยู่ในภาวะยากจน มีหนี้สิน ไม่มีปัจจัยการผลิตเป็นของตัวเอง ทั้งที่ดิน พันธุ์พืชและสัตว์ ปุ๋ย ยา ฯลฯ หากเกษตรกรต้องการจะผลิตก็ต้องเข้ามาหาทุนที่ถือครองปัจจัยการผลิตเหล่านี้
เมื่อดูถึงเหตุผลในการตัดสินใจเลือกเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา ก็จะเห็นปริมาณข้อมูลสนับสนุนด้านดีของเกษตรพันธสัญญาที่บรรษัทโหมประชาสัมพันธ์ และจัดจ้างให้มีการทำวิจัยสนับสนุนอย่างมากมายมหาศาล และรัฐเองก็มีเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบงำด้วยข้อมูลเหล่านั้น หรือบางกรณีรัฐเองก็เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบพันธสัญญา โดยที่เกษตรกรมีข้อมูลเท่าทันสถานการณ์น้อยมากเนื่องจากในสื่อต่างๆ รวมถึงข้อมูลจากรัฐ มีแต่ด้านดีไม่มีด้านลบของเกษตรพันธสัญญา
เกษตรกรจึงเลือกเข้าสู่ระบบพันธสัญญาบนพื้นฐานของคนเข้าไปขอร่วมระบบโดยมองว่าบรรษัทที่หยิบยื่นปัจจัยการผลิตมาให้ในระบบสินเชื่อเป็นผู้มีพระคุณกับตัวเอง หากบรรษัทจะกำหนดข้อสัญญาอย่างไรก็ให้เป็นตามที่บรรษัทเห็นควร หรือบางกรณีถึงขนาดไม่มีหนังสือสัญญาให้เกษตรกรถือไว้ โดยภาครัฐไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบข้อสัญญาที่เกิดขึ้นว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม
เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบแล้วเกษตรกรก็จะเหลือตัวเองคนเดียวที่ผูกพันอยู่กับบรรษัท เนื่องจากลักษณะของสัญญาออกแบบโดยบรรษัทกีดกันมิให้มีการทำสัญญากับเกษตรทั้งกลุ่ม เพื่อให้อำนาจในการต่อรองของเกษตรกรน้อยลงไม่แข็งข้อ และรัฐก็มิได้เข้ามามีบทบาทเสริมอำนาจต่อรองให้เกษตรกร หรือแก้ไขข้อสัญญา หรือการกระทำที่ไม่เป็นธรรมให้กับเกษตรกร
การผลิตของเกษตรกรจึงอยู่ในรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยวต้องพยายามผลิตเพียงอย่างเดียวให้ได้ปริมาณมากที่สุดเพื่อให้ได้เงินมากที่สุดพอที่จะมาหักหนี้แล้วเหลือกำไรบ้าง โดยบรรษัทเป็นผู้กำหนดปริมาณ รูปแบบ และมาตรฐานการผลิต ซึ่งภาระในการทำตามมาตรฐานตกอยู่กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงเรือน เล้า กระชัง การใส่ยา ใส่ปุ๋ย การให้อาหาร ฯลฯ โดยมาตรฐานทั้งหลายไม่ได้มีการตรวจสอบควบคุมโดยรัฐว่าเป็นการสร้างภาระให้เกษตรกรมากเกินไปหรือไม่ กลับกันมีหลายกรณีที่รัฐกลายเป็นส่วนหนึ่งในการบีบบังคับเกษตรกรให้ทำตามที่บรรษัทกำหนดทั้งที่มาตรฐานบางอย่างไม่จำเป็น เช่น การปรับโรงเรือน การให้ยา อาหาร ที่มากเกิน แต่เป็นผลดีกับบรรษัทเพราะบรรษัทเป็นผู้ขายของให้
การทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวยังสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากรเนื่องจากเกิดมลพิษและทำให้ความอุดมสมบูรณ์เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ในหลายกรณีพบว่ากลุ่มทุนอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนให้เกษตรกรรุกเข้าไปทำเกษตรพันธสัญญาในพื้นที่สงวน หรือทรัพยากรสาธารณะ เช่น การรุกเขาปลูกข้าวโพดและอ้อย การยึดลำน้ำเพื่อเลี้ยงปลาในกระชัง การสร้างมลภาวะจากโรงเรือนเลี้ยงหมูหรือไก่ ทั้งนี้จะเห็นว่ารัฐจะดำเนินการแข็งขันกับกรณีคนชายขอบที่ผลิตเพื่อยังชีพ แต่กับกรณีการผลิตในเชิงพาณิชย์เหล่านี้รัฐกลับทำเหมือนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยให้มีการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยไม่ลงโทษหรือปรับผู้ก่อมลพิษ เพื่อให้มีการปรับการผลิตให้อยู่บนหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การผลิตทางการเกษตรนั้นอยู่ในภาวะความเสี่ยงของสภาพดินฟ้าอากาศและภาวะธรรมชาติอีกหลายเรื่อง ซึ่งบรรษัทผลักให้เกษตรกรต้องเผชิญภาระเอาเอง หากเกิดความเสียหาย ขาดทุน เป็นเรื่องที่เกษตรกรรับไป บรรษัทไม่ร่วมแบกรับด้วย เมื่อเกิดปัญหาเช่น น้ำท่วม พืชเน่า สัตว์ตาย กลายเป็นรัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วย หรือประกันราคาความเสี่ยงทั้งหลาย แต่งบประมาณที่ใช้นั้นเป็นของประชาชน
เมื่อเสร็จสิ้นการผลิตได้ผลผลิตเป็น พืช หรือสัตว์ ที่พร้อมจะขาย บรรษัทก็มีอำนาจในการรับซื้อและห้ามเกษตรกรขายให้แก่ผู้อื่น หรือเอาออกไปขายเอง หากเกษตรกรฝ่าฝืนจะมีการหยิบเอาข้อสัญญามาบีบบังคับฟ้องร้อง ทำให้ทางเลือกในด้านการตลาดของเกษตรน้อยมาก ต้องตกอยู่ในการบังคับของบรรษัท เช่น จะมาจับสัตว์เมื่อไหร่(จับช้าเกษตรกรก็จะขาดทุนไปเรื่อยเพราะต้องให้อาหารแต่สัตว์หรือพืชไม่โตขึ้น) หากสินค้าล้นตลาดบรรษัทก็ไม่มารับซื้อ ให้เกษตรกรไปดิ้นรนหาตลาดเอาเอง ทำให้เกษตรกรต้องยอมขายขาดทุนเพื่อไม่ให้เจ๊งมากไปกว่านี้ โดยรัฐมองอยู่ห่างๆ แต่ไม่เข้ามาช่วยแต่อย่างใด
บรรษัทมีอำนาจในการบังคับซื้อขายใน “ราคา” และ “มาตรฐาน” ที่บรรษัทตั้งเอาไว้เนื่องจากมีช่องทางตลาด และผูกขาดอำนาจ “ความรู้” ในมาตรฐานเชิงเทคนิคเอาไว้กับตัวเอง และบางกรณีหน่วยงานรัฐเองก็ไม่ชี้แจงข้อมูลความรู้เชิงเทคนิคให้เกษตรกรทราบ ทำให้ถูกกดราคาผลผลิตอย่างไม่เป็นธรรม เช่น อัตราเนื้อแดงในหมู อัตราความปนเปื้อนในข้าวโพด หรือค่าความหวานในน้ำตาลอ้อย ฯลฯ
สุดท้ายเกษตรกรก็ต้องจำยอมรับค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้หนี้ หรือบางกรณีก็ได้น้อยมาก จนมาคิดเป็นวันแล้วน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่มากมาย เช่น เลี้ยงหมูมาสี่เดือน ได้มา 40,000 แต่ทำกัน 2 คนผัวเมีย ตกแล้วได้ไม่ถึง 170 บาท หากเอาที่ดินไปให้คนอื่นเช่า หรือเข้าไปรับจ้างทำงานอื่นก็อาจจะได้มากกว่าด้วยซ้ำ ผลประโยชน์เหล่านั้นกลายเป็นผลกำไรสะสมของบรรษัทและผู้ถือหุ้นทั้งหลาย โดยที่รัฐก็ยินดีที่บริษัทมีผลกำไรเพราะจะได้เก็บภาษีมาเป็นงบประมาณประจำปีเพื่อนำไปทำนโยบายประชานิยมเพื่อเรียกคะแนนเสียงเข้าพรรคต่อไป ทำให้เกษตรกรตกอยู่ในวงเวียนแห่งหนี้สินซ้ำซากจำเจไม่มีทางออก
จากผลการศึกษาดังกล่าวจะเห็นว่า เกษตรกรต้องแบกรับ “ความเสี่ยง” อยู่ฝ่ายเดียว และบรรษัทยังได้ “ขูดรีด” ผลประโยชน์ไป ด้วยการอาศัยระบบความสัมพันธ์ที่อยู่บนพื้นฐานของความ “ไม่เป็นธรรม” เนื่องบรรษัทอยู่ในสถานะเหนือกว่าทั้ง ทุน ความรู้ และความสัมพันธ์ที่มีร่วมกับรัฐ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถต่อรองได้ เนื่องจากอยู่ในภาวะโดดเดี่ยว และรัฐก็มิได้เข้ามาแทรกแซงเพื่อสร้างความเป็นธรรมใด
หากจะทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากบ่วงบาศดังกล่าวจำเป็นต้องมีการปรับทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรเสียใหม่ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การทำให้ “เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้” ขั้นแรกจะต้องมีการประกันการเข้าถึงปัจจัยการผลิตอย่างเพียงพอ สร้างสมดุลของข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้เกษตรกรรู้ทันสถานการณ์ สร้างการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อนำไปสู่การต่อรอง หรือรัฐอาจจะเข้ามาแทรกแซง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการเกษตรกรรมอย่างหลากหลาย อันจะเป็นผลดีต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน นอกจากนี้กระบวนการผลติที่มีความเสี่ยงนั้นจะต้องดึงบรรษัทเข้ามาแบกรับความเสี่ยงร่วมกับเกษตรกรในทุกขั้นตอน เมื่อถึงปลายฤดูกาลผลิตจะต้องมีการสร้างตลาดและช่องทางการขายสินค้าให้เกษตรกรเลือกได้มากขึ้น หรือรัฐอาจเข้ามาควบคุมเรื่อง มาตรฐานของสินค้าอาหาร และราคา ให้เกิดความเป็นธรรมทั้งต่อตัวเกษตรกร และคุ้มครองผู้บริโภคไปด้วย เนื่องจากเกษตรกรรมเป็นรากฐานของความมั่นคงด้านอาหารที่เป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ
ผูกขาดชีวิต
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เกษตรกรรมถือเป็นวิถีการผลิตที่อยู่ควบคู่กับชีวิตคนไทยจำนวนไม่น้อยมาเป็นเวลานาน แต่ในปัจจุบันนี้การผลิตในวิถีทางเดิมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่คนในสังคมไทยมิได้ตระหนักรู้ ความคิดและจินตนาการเดิมเกี่ยวกับเกษตรกรรมที่มีทุ่งนาสีเขียว ชาวนารวมตัวกันลงแขกเกี่ยวข้าว หรือทำการผลิตอย่างหลากหลายในพื้นที่เล็กๆของตนได้เปลี่ยนไปแล้ว
จากการลงพื้นที่ทำการวิจัยภาคสนามเกี่ยวกับ “เกษตรพันธะสัญญา” เพื่อในนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร พบว่า ชีวิตของเกษตรกรจำนวนมากได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมแบบพันธะสัญญา กล่าวคือ ทำการเกษตรที่ผูกพัน พึ่งพิง หรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น พาณิชย์เกษตร หรืออุตสาหกรรมเกษตร ในรูปแบบของโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ร้านขายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การปล่อยสินเชื่อหลากหลายชนิดให้เกษตรกร หรือแม้กระทั่งการสร้างเครือข่ายนายหน้าธุรกิจเกษตรกับตัวเกษตรกร ในหลายพื้นที่ ข้อสังเกตที่สำคัญอีกประการ คือ เกษตรพันธะสัญญาได้ครอบคลุมไปยังหลากหลายชนิดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น สัตว์บก สัตว์น้ำ หรือพืชผลไร่ พืชสวน รวมถึงข้าว
อย่างที่เราทราบกันดีว่าคุณภาพชีวิตของคน ขึ้นอยู่กับคุณภาพอาหาร และผู้ที่ผลิตอาหารให้เรารับประทานก็คือภาคการเกษตร ซึ่งขอย้ำอีกครั้งว่าได้เปลี่ยนไปแล้ว จากเดิมเส้นทางของอาหารที่เข้าปากเราอยู่ที่เกษตรกรซึ่งอยู่ในท้องถิ่นใกล้เคียงกับถิ่นที่อยู่ของเรา ปัจจุบันอาหารมาจากสายการผลิตขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่เป็นผู้วางแผนควบคุมการผลิตผ่าน “พันธะสัญญา” ที่มีกับเกษตรกร แล้วลำเลียงเข้าสู่สายพานการผลิตของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ก่อนที่จะมาวางในห้างร้านตลาด หรือเข้าสู่ห้องครัวของร้านอาหารที่เราไปนั่งกินกันเป็นประจำ ภาพที่สะท้อนออกมาคือ ธุรกิจการเกษตรได้ผูกขาดชีวิตเกษตรกรในชนบท และชีวิตผู้บริโภคในเมือง ไว้อยู่หมัดแล้ว (เว้นเพียงเครือข่ายผู้บริโภคและเกษตรกรรมทางเลือก ที่พูดกันจริงๆ ก็คือ คนส่วนน้อยมากๆ ในสังคม)
วิธีการ “ผูกขาดชีวิต” ประกอบด้วยแนวทางสำคัญอยู่ 5 ประการดังต่อไปนี้
- ผูกขาดการถือครองปัจจัยการผลิต การผลิตทางการเกษตรจำเป็นต้องมีปัจจัยการผลิตต่างๆเข้ามาเป็นฐานเพื่อทำการผลิต อาทิ ที่ดิน เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ตัวอ่อน อาหาร หรือทรัพยากรต่างๆที่เข้ามาเกื้อหนุนให้มีการเพาะปลูกหรือปศุสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิผล ดังนั้นธุรกิจการเกษตรจึงต้องสร้างข้อผูกพันกับเกษตรกรว่า ปัจจัยการผลิตทั้งหลายจะมีธุรกิจการเกษตรจัดหาให้เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทำกิน หากไม่มีก็ให้เงินไปเช่า หรือให้เช่า การให้สินเชื่อเมล็ดพันธุ์ ตัวอ่อน อาหาร หรือปุ๋ยที่เกษตรกรทั้งหลายจะเข้าถึงได้ด้วยเงินและสินเชื่อ ทั้งนี้การกำหนดราคาหรืออำนาจในการควบคุมปัจจัยการผลิตจึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณา อาทิ ที่ดินจะต้องมีการจัดสรรหรือปฏิรูปเพื่อทำกิน ไม่ปล่อยให้มีการถือครองที่ดินเพื่อเก็งกำไรโดยมิได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง เมล็ดพันธุ์ ตัวอ่อน ปุ๋ย หรืออาหารสัตว์จะต้องไม่อยู่ภายใต้การผูกขาดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอันจะมีผลต่อการบิดเบือนตลาดสินค้าเกษตรทำให้เกษตรกรต้องซื้อปัจจัยผลิตในราคาแพง และท้ายที่สุดจะทำให้อาหารที่มาจากสินค้าเกษตรต้องมีราคาแพงตามไปด้วย การไม่ปฏิรูประบบถือครองสิทธิในปัจจัยการผลิตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการผูกขาดชีวิตของเกษตรกร
- การผูกขาดสิทธิในทรัพยากรสาธารณะ การดำรงอยู่ของภาคการเกษตรจำเป็นต้องอาศัยฐานทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่ คือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจัยในการผลิตทางการเกษตรล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ อากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ สัจธรรมในเรื่องนี้ธุรกิจการเกษตรจึงต้องสร้างแนวร่วมกับภาครัฐที่ดูแลเรื่องการใช้ประโยชน์ทรัพยากรต่างๆ ให้เหนือกว่าเกษตรกรทั้งหลายซึ่งเป็นประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นดังกล่าวเป็นระยะเวลานาน หากเปิดโอกาสให้ธุรกิจเกษตรเข้ามามีบทบาทก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเกษตรกรในระบบพันธะสัญญาเองในแง่ของการใช้ประโยชน์เพื่อผลิตในระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว แต่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะในแง่ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทรัพยากรเหล่านั้นอันเป็นมรดกร่วมกันของคนทั้งชาติและลูกหลานของตนในอนาคต นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรสาธารณะอีกส่วนหนึ่งที่ต้องปิดโอกาสเกษตรกรให้ร่วมตัดสินใจเพื่อจัดสรรแบ่งปันน้อยลง นั่นก็คือ ทรัพยากรของรัฐ อันได้แก่ งบประมาณ กลไก บุคคลากรของภาครัฐและบริการสาธารณะ ทรัพยากรสาธารณะเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญให้แก่เกษตรกรผู้ด้อยโอกาสในการพัฒนาอันเนื่องมาจากการขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและขาดอำนาจในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ดังนั้นการลดโอกาสเข้ามีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะน้อยลง ก็ย่อมลดโอกาสให้เกษตรกรพัฒนาตนเองมากขึ้นนั่นเอง ดังปรากฏการรวมตัวของเกษตรกรใต้พันธะสัญญาของธุรกิจเกษตรเป็นสมาคมต่างๆ แต่มิได้ทำงานเพื่อเกษตรกรรายย่อย หรือการพยายามส่งคนเข้าไปนั่งในสภาเกษตรกรที่กำลังจะตั้ง
- การผลักภาระความเสี่ยงในกระบวนการเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกร การประกอบธุรกิจการเกษตรในปัจจุบัน บรรษัทการเกษตรทั้งหลายไม่รวมเอาการผลิตทุกขั้นตอนมาอยู่ที่ตนเอง แต่จะพยายามผลักขั้นตอนต่างๆที่มีความเสี่ยงหรือต้องลงทุนไปให้เกษตรกรแบกรับภาระเสีย ตั้งแต่ การลงทุนปรับปรุงพื้นที่ผลิต การมีโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้ได้มาตรฐาน หรือแม้กระทั่งราคาสินค้าที่ผันผวนตามราคาตลาดโลก ดังนั้นความมั่งคงในชีวิตของเกษตรกรจึงอาจหายไปได้ด้วย 2 ทาง คือ
1) การทำให้เกษตรกรไม่มีปัจจัยการดำรงชีพโดยตรง ผ่านการสร้างระบบผูกขาดในการครอบครองผลผลิตที่ตนเองผลิตได้ เนื่องจากเกษตรกรจำเป็นต้องขายออกไปเพื่อแลกเงินทั้งหมด นั่นก็คือ การทำลายอธิปไตยเหนืออาหาร ให้เกษตรกรตกอยู่ภายใต้อำนาจการครอบงำของกลุ่มทุนที่ดึงดูดเอาผลผลิตทั้งหมดไปจากเกษตรกรอันเนื่องมาจากภาวะรุมเร้าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สิน ที่เกิดจากการกู้ยืมเพื่อนำไปซื้อเมล็ดพันธุ์ ตัวอ่อน ปุ๋ย อาหารสัตว์ หรือค่าเช่าปัจจัยการผลิตต่างๆ รวมไปถึงการตกอยู่ภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญาที่มีลักษณะผูกขาดขูดรีดอย่างไม่เป็นธรรม
2) การทำให้เกษตรกรไม่มีปัจจัยการดำรงชีพทางอ้อม ผ่านการบิดเบือนระบบประกันรายได้จากการซื้อขายผลผลิตการเกษตรกร ด้วยมาตรการแทรกแซงของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การประกันราคาสินค้า การกำหนดปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรล่วงหน้า การรับซื้อรับจำนำสินค้าในราคาที่เหมาะสม ซึ่งธุรกิจการเกษตรทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นเข้าไปมีเอี่ยวด้วยทั้งสิ้น และในบางกรณีหากเกษตรกรประสบภัยพิบัติธรรมชาติก็อาจมีมาตรการช่วยเหลือโดยตรงไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นดอกเบี้ยหนี้สิน หรือจัดระบบการเงินเข้าไปอุดหนุนเกษตรกรที่ประสบปัญหา แต่ไม่อยู่ในรูปแบบสหกรณ์ หรือสถาบันการเงินภาคประชาชน กลายเป็นภาคธุรกิจเข้ามาแทน
- การทำลายวิถีการผลิตที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของตน การเกษตรเป็นวิถีชีวิตที่ต้องอาศัยการสืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษสู่ ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาทางการผลิต การเก็บรักษาพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน นโยบายหรือโครงการใดที่รัฐหรือเอกชนริเริ่มในระบบพันธะสัญญาจึงทำลายความสัมพันธ์เดิมของคนในชุมชน แต่เริ่มความสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง ธุรกิจการเกษตร กับ เกษตรกรรายย่อย แทน ดังที่รู้จักกันในนาม “เกษตรกรรมไร้ญาติ” เพราะต้องไปผูกญาติกับบรรษัทแทนในระบบอุปถัมภ์ใหม่ ความต่อเนื่องของวัฒนธรรมชุมชนอันจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีของชุมชนและเกษตรกรจึงหายไป
- การผูกขาดข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลทั้งหมดได้ถูกเปลี่ยนมือจากเกษตรกรในวิถีเดิมไปสู่ธุรกิจการเกษตรที่นำเข้าเทคโนโลยีใหม่มาสู่ทุกพื้นที่การผลิต การบิดเบือนปิดบังข้อมูล ต้นทุนและความเสี่ยงด้านต่างๆ อันทำให้เกษตรกรต้องก้มหน้ารับกรรมเมื่อล้มเหลว ก็ด้วยการขาดข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ว่า เกษตรกรรมที่เลือกทำ มันรวยจริงหรือไม่ หรือได้ 3 ปี ที่เหลือ “เจ๊ง”
ผู้บริโภคทั้งหลายจึงพึงตระหนักว่า “ราคา” และ “คุณภาพ” ของอาหารตกอยู่ในการควบคุมของธุรกิจการเกษตรแล้วทั้งสิ้น หากเราต้องการราคาและคุณภาพอาหารที่ดี เราก็ไม่สามารถเรียกร้องเอาจากเกษตรกรแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่เราต้องแสวงหาแนวทางในการสื่อสารกับธุรกิจการเกษตรเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกันระหว่างผู้บริโภคกับธุรกิจการเกษตร เนื่องจากธุรกิจเกษตรได้ผูกขาดชีวิตของเกษตรกร และผู้บริโภคในเมืองไว้เกือบหมดแล้ว
ที่มาhttp://www.midnightuniv.org/%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%8a%e0%b8%b8%e0%b8%94%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%95%e0%b8%a3%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%98%e0%b8%b0%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b8%8d
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น