เกษตรพันธะสัญญา: ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
Filed under : INTEGRATED SCIENCE > SOCIAL SCIENCE“บรรษัทมีเป้าหมายอยู่ที่การแสวงหากำไรเข้าตัวให้มากที่สุด โดยที่รัฐก็มีความสัมพันธ์กับบรรษัทในฐานะผู้มีหน้าที่ส่งเสริมการประกอบการหรือมีการอุปถัมภ์ค้ำชูกันทั้งในระดับนักการเมืองและข้าราชการประจำ ส่วนเกษตรกรก็กำลังแสวงหาวิธีการพาตัวเองออกจากความยากจนที่ต้องเผชิญอยู่”
บ่วงบาศพิฆาตเกษตรกร
ทศพล ทรรศนกุลพันธ์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เกษตรกรต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมฐานทรัพยากรที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับวิถีการผลิตของตนมานับหมื่นปี อย่างไรก็ดีเกษตรกรทั้งหลายก็ได้พัฒนาระบบการผลิตและวิถีชีวิตของตนและกลุ่มให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ย่อมปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
เกษตรกรรมสมัยใหม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการผลิตเพื่อขายออกสู่ตลาด ซึ่งผลิตผลทางการเกษตรจะมีตัวกลางในการควบคุมการซื้อขาย รวมถึงขยับขยายมาควบคุมปัจจัยการผลิตทางการเกษตรมากขึ้น โดยปัจจุบันตัวกลางที่ว่าอยู่ในรูปแบบของ “บรรษัทธุรกิจการเกษตร” ที่มีอยู่ไม่กี่บริษัทและเป็นที่รู้จักดีทั้งในระดับรัฐและระดับโลก
บรรษัทธุรกิจการเกษตรเหล่านี้ได้ร่วมมือกับภาครัฐสร้างข้อมูล โฆษณาประชาสัมพันธ์ บทบาทของตนในการหยิบยื่นสิ่งที่เรียกว่า “ระบบเกษตรพันธสัญญา” หรือ “Contract Farming” ให้กับเกษตรกรทั้งหลายเพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงว่า เมื่อเกษตรกรเข้ามาร่วมดำเนินธุรกิจกับทางบริษัทแล้วจะมีการนำปัจจัยการผลิตมาให้ รวมถึงมีการรับซื้อผลผลิตคืน เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการผลิต โดยข้อตกลงที่เกิดขึ้นอยู่ในรูปแบบสัญญา “ลายลักษณ์อักษร” และ “สัญญาใจ” ไม่มีลายลักษณ์อักษร แต่ความคาดหวังของเกษตรกรจะเป็นจริงอย่างที่บริษัทโฆษณาจริงกระนั้นหรือ
งานวิจัยที่ได้ลงพื้นที่คลุกคลีกับเกษตรกรในหลายกลุ่ม อาทิ ผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ผู้เลี้ยงหมู ผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ชาวไร่อ้อย ชาวไร่ข้าวโพด ฯลฯ พบข้อสรุปซ้ำซากที่เกิดคล้ายๆกันระหว่างกลุ่มเกษตรกรในระบบพันธสัญญา คือ เกษตรกรตกอยู่ในภาวะ มีหนี้สินล้นพ้น เครียดวิตกจริต อยากจะเลิกแต่เลิกไม่ได้ และตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง และไร้อำนาจในการต่อรองเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ เนื่องจากเมื่อเข้าร่วมระบบพันธสัญญานั้น ตนได้ตกอยู่ในภาวะ “ไร้ญาติ” ขาดความสัมพันธ์กับญาติสนิทมิตรสหายที่เคยติดต่อไปมาหาสู่กันเมื่อครั้งทำการเกษตรแบบเดิม เมื่อเกิดปัญหาก็เหลือเพียง “ตัวเอง” กับ “บรรษัท” เท่ากับว่าตนต้องมีความสัมพันธ์กับบรรษัทบนพื้นฐานของอำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน และไม่มีแนวร่วม
สาเหตุที่เกษตรกรเข้าไปติดกับและออกจากวงจรไม่ได้นั้นเกิดจากกระบวนการที่มีการวางแผนและสมคบกันอย่างเป็นระบบระหว่างรัฐกับทุน โดยในบางกรณีรัฐก็มีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้เกษตรกรเข้าไปอยู่ในระบบ หรือบางกรณีรัฐก็ไม่ทำหน้าที่คนกลางหรือผู้ปกป้องสิทธิของประชาชน ทำให้ประชาชนต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความไม่เป็นธรรมโดยลำพัง กระบวนการดังกล่าวสามารถอธิบายด้วยผลการศึกษาเรื่อง “บ่วงบาศผูกขาดชีวิตเกษตรกร” ที่ปรากฏในรูป ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบ่วงบาศที่เกี่ยวรัดกระหวัดให้เกษตรกรดิ้นไม่รอดและล้มหายตายไปในอ้อมกอดอำมหิตดังกล่าว
ณ จุดเริ่มต้นของเรื่อง บรรษัทมีเป้าหมายอยู่ที่การแสวงหากำไรเข้าตัวให้มากที่สุด โดยที่รัฐก็มีความสัมพันธ์กับบรรษัทในฐานะผู้มีหน้าที่ส่งเสริมการประกอบการหรือมีการอุปถัมภ์ค้ำชูกันทั้งในระดับนักการเมืองและข้าราชการประจำ ส่วนเกษตรกรก็กำลังแสวงหาวิธีการพาตัวเองออกจากความยากจนที่ต้องเผชิญอยู่
บรรษัทเล็งเห็นว่าหากตนจะสร้างผลกำไรได้มากที่สุดจะต้องมีการผูกขาดความสามารถในการผลิตมาอยู่ที่ตัวเอง จึงได้พยายามอย่างมากในการครอบครองปัจจัยการผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็น พันธุกรรมพืชและสัตว์ ในรูปตัวอ่อนสัตว์และเมล็ดพันธุ์พืช หรือแม้กระทั่งการถือครองที่ดิน โดยที่ภาครัฐก็มิได้มีการสงวนอนุรักษ์ปัจจัยการผลิตเหล่านั้นให้เกษตรกร และเกษตรกรเองก็อยู่ในภาวะยากจน มีหนี้สิน ไม่มีปัจจัยการผลิตเป็นของตัวเอง ทั้งที่ดิน พันธุ์พืชและสัตว์ ปุ๋ย ยา ฯลฯ หากเกษตรกรต้องการจะผลิตก็ต้องเข้ามาหาทุนที่ถือครองปัจจัยการผลิตเหล่านี้
เมื่อดูถึงเหตุผลในการตัดสินใจเลือกเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา ก็จะเห็นปริมาณข้อมูลสนับสนุนด้านดีของเกษตรพันธสัญญาที่บรรษัทโหมประชาสัมพันธ์ และจัดจ้างให้มีการทำวิจัยสนับสนุนอย่างมากมายมหาศาล และรัฐเองก็มีเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบงำด้วยข้อมูลเหล่านั้น หรือบางกรณีรัฐเองก็เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบพันธสัญญา โดยที่เกษตรกรมีข้อมูลเท่าทันสถานการณ์น้อยมากเนื่องจากในสื่อต่างๆ รวมถึงข้อมูลจากรัฐ มีแต่ด้านดีไม่มีด้านลบของเกษตรพันธสัญญา
เกษตรกรจึงเลือกเข้าสู่ระบบพันธสัญญาบนพื้นฐานของคนเข้าไปขอร่วมระบบโดยมองว่าบรรษัทที่หยิบยื่นปัจจัยการผลิตมาให้ในระบบสินเชื่อเป็นผู้มีพระคุณกับตัวเอง หากบรรษัทจะกำหนดข้อสัญญาอย่างไรก็ให้เป็นตามที่บรรษัทเห็นควร หรือบางกรณีถึงขนาดไม่มีหนังสือสัญญาให้เกษตรกรถือไว้ โดยภาครัฐไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบข้อสัญญาที่เกิดขึ้นว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม